มาฟังกันต่อครับ กับการประชันวิสัยทัศน์ ตามหา “ผู้ว่าฯ ฟอร์ ออล” ณ ลาน ริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อช่วงเย็นย่ำค่ำวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2565 โดยพิธีกรชื่อดัง “กฤษนะ ละไล” ประธานเครือข่ายฑูตอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เป็นผู้ดำเนินรายการ
ประเด็นคำถามที่ว่า มีโอกาสแค่ไหนที่กรุงเทพฯ จะมีอารยสถาปัตย์ที่ดี มีคุณภาพมาตรฐานสากล เพื่อให้คนทุกกลุ่มวัย และทุกสภาพร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้พิการ และมนุษย์ล้อ สามารถเข้าถึงได้ ใช้บริการได้ สะดวก ทันสมัย ปลอดภัย เป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม เหมือนกรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ต้องรอชาติหน้า หรือควรย้ายประเทศไปอยู่ญี่ปุ่น หรือ “ผู้ว่าฯ ฟอร์ ออล” จะทำได้ทันเห็น ทันใช้ กันในยุคสมัยของพวกเรา ?
ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหลายเลข 1 จากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนเคยไปประเทศญี่ปุ่นในสมัยที่ยังเป็นวัยรุ่น ได้เห็นผู้พิการ หรือมนุษย์ล้อออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะมากมาย ยังนึกว่า!ประเทศไทยเราโชคดีมากที่มีคนพิการน้อยกว่าเขา แต่ในความเป็นจริง ดือ คนพิการในบ้านเราก็มีมาก แต่ที่เราไม่ค่อยได้เห็น เพราะพวกเขาออกมาไม่ได้ต่างหาก ดังนั้น สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างแรกที่ผู้ว่าฯ กทม.ควรต้องทำ คือ ต้องทำอารยสถาปัตย์เพื่อให้ทุกคนสามารถเดินทางเคลื่อนที่ออกมาจากบ้านไปยังสถานที่ต่างๆได้ตามที่เราปรารถนาได้ เราจะทำอย่างไรให้การเดินทางของเราดีขึ้น ต้องมีรถเมล์ชานต่ำ และลิฟต์ขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า ต้องเปิดให้ใช้งานได้ทุกที่ ทั้งหมดอยู่ในอำนาจของผู้ว่าฯกทม.
“ต้องสร้างแรงจูงใจในการบังคับใช้กฎหมายเรื่องอารยสถาปัตย์ ต้องทำอย่างจริงจังได้แล้ว ต้องเปิดให้สมาคม ภาคี เครือข่ายเข้ามาร่วมตรวจสอบ หากตึกอาคาร หรือสถานที่ต่างๆได้การรับรองว่ามีอารยสถาปัตย์ได้มาตรฐาน คุณจะได้รับการลดหย่อนภาษีในการสร้างทำอารยสถาปัตย์ แต่ถ้าคุณไม่ทำ คุณต้องจ่ายภาษีในราคาที่แพงกว่า เพราะนั่นหมายความว่าคุณกำลังผลักภาระให้กับบ้านเมือง ให้กับสังคม ดังนั้น เราต้องจูงใจให้ทุกภาคส่วนมาช่วยกันทำอารยสถาปัตย์ และในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ต้องมีอารยสถาปัตย์ให้คนทุกวัย และทุกสภาพร่างกายสามารถเข้าถึงได้ มาเที่ยวได้ สะดวกสบาย และปลอดภัย และทุกอย่างจะกลายเป็นสังคมที่ดีของเราทุกคน” ผู้สมัครหมายเลข 1 กล่าว
ดร.โฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 24 กล่าวว่า การทำกรุงเทพฯให้เป็นเมืองอารยสถาปัตย์แบบกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เชื่อว่าไม่ยาก เพราะในวาระ 4 ปีของผู้ว่าฯกทม. เริ่มต้นด้วยวิธีบริหารจัดการที่ดี เราต้องทำ MOU หรือบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่เชี่ยวชาญทางด้านอารยสถาปัตย์ เขาจะยินดีมาก เพราะคนญี่ปุ่นมาอยู่ในกรุงเทพฯมีมากมาย คนที่พิการก็อยากมาเที่ยวกรุงเทพฯ ถ้าเราจับมือกับญี่ปุ่น ก็ก็อปปี้เรื่องอารยสถาปัตย์ของญี่ปุ่นมาใช้เลย พอถึงเวลาศึกษาดูงาน เขาก็อยากจะช่วยแนะนำเรา และให้เขายกทีมโตเกียวมาร่วมพัฒนากรุงเทพฯให้เป็นเมือง อารยสถาปัตย์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ สะดวก ปลอดภัย
“ถ้าผมได้เป็นผู้ว่าฯ ผมจะทำให้เรื่องอารยสถาปัตย์เป็นจุดขายใหม่ของกรุงเทพฯ และประเทศไทย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงวัย ผู้พิการ และมนุษย์ล้อจากทั่วโลกให้มาเที่ยวเมืองไทย โปรโมทไปเลยว่าเมืองหลวงประเทศไทยเป็นเมืองที่ดีที่สุดในโลก ผู้พิการที่เป็นเศรษฐีก็มีมากมายเหลือเกินในโลกนี้ ผมจะทำเพื่อคนพิการให้ดีที่สุดในโลก ให้เมืองเราพัฒนาอย่างรวดเร็ว พัฒนาอย่างโปร่งใส ให้ภาคเอกชนมาร่วมกันยกให้กรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงที่ดีของโลก จับมือกับสมาคมคนพิการของโลกไปเลย ถ้าเราไม่โกงเงินแม้แต่บาทเดียวเป็นไปตามความโปร่งใสทำได้ดีแน่นอน” ผู้สมัครหมายเลข 24 กล่าว
ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 8 กล่าวว่า ในวาระ 4 ปี ต้องเห็นผลชัดเจนแน่นอน ต้องมีแผนหลายรูปแบบ บางเรื่องเสร็จไว บางเรื่องเสร็จช้า ต้องยิ่งรีบทำ คิดให้รอบคอบ และลงมือทำให้ได้ทั้งหมด ขั้นแรกผู้ว่าฯต้องกล้าเดินเข้าไปหาเขาก่อน ต้องไปเยี่ยมภาคีเครือข่ายต่างๆ ต้องจริงจัง คุยบ่อยๆให้เขามาช่วยแลกเปลี่ยนแก้ไข เช่น ทางม้าลาย ทางข้าม ที่มีแล้วใช้งานยาก อันตราย ต้องการทุบทำใหม่ ก็ต้องหาเส้นทางที่มนุษย์ล้อสามารถไปได้ ต้องมีทางออกให้ได้ทุกจุด ปัจจุบันแม้จะมีอารยสถาปัตย์ แต่ยังทำไม่ได้มาตรฐาน เพราะคนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ เราต้องทำให้ดี ให้มีมาตรฐาน ใช้ได้จริง ที่สำคัญ เมืองต้องปลอดภัย
“ต้องทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ต้องมี Action Plan ที่ชัดเจน ว่าจะทำอะไรบ้าง เปลี่ยนแปลงสิ่งใดบ้าง ไม่ใช่มีแค่เรื่องฟุตบาททางเท้าเรื่องเดียว สำหรับคนพิการมี 20-30 เรื่อง ต้องมีแผนว่าต้องทำต้องแก้อะไรบ้าง บางเรื่องต้องใช้เวลากี่ปีเห็นผลกี่ปี ต้องทำปรับแก้อะไรบ้าง ทางเท้า ลิฟต์ ท้องถนน การเดินทางเข้าออก ชุมชน แหล่งท่องเที่ยวต้องมีแบบแผนที่ละเอียด ถ้าเป็นผู้ว่าฯ ต้องเริ่มทันที ต้องกล้า ไม่ใช่แค่ฟุตบาททางเท้า ให้รวมถึงการเดินทาง การศึกษา การฝึกอาชีพ ต้องดีไปด้วย” ดร.ซัชชาติ กล่าว
นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระหมายเลข 3 กล่าวว่า ถ้าตนได้เป็นผู้ว่ากทม.จะพยายามทำให้กรุงเทพฯเป็นเหมือนกรุงโตเกียวให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกายภาพ การขนส่งสาธารณะ และบริการต่างๆต้องสามารถเข้าถึงได้ทุกคน ทางเท้า รถเมล์ เรือ รถไฟ ต้องมีอารยสถาปัตย์ให้ทุกคนสามารถใช้บริการได้ ส่วนที่สร้างทำไว้แล้วแต่ผู้พิการยังไม่สามารถใช้งานได้ ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขให้ใช้ได้
“คนพิการไม่ได้อยากได้ความช่วยเหลือจากผู้อื่น แต่อยากที่จะใช้ชีวิตด้วยตัวเอง อยากให้บ้านเมืองมีอารยสถาปัตย์ เพื่อที่เขาจะได้ไม่เป็นภาระของคนรอบข้าง ไม่เป็นภาระของสังคม นอกจากนี้ ต้องมีการประกอบอาชีพ ได้เรียนหนังสือ เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หน่วยงานใน กทม.ต้องจ้างงานคนพิการให้ได้ ส่วนการฝึกอาชีพ การจ้างงาน ต้องทำศูนย์กลางระหว่างผู้พิการและนายจ้างมาพบกันให้ได้ สรุปในวาระ 4 ปี ข้างหน้า คนพิการจะได้มีงานทำ สามารถที่จะประกอบอาชีพ และใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้” ผู้สมัครหมายเลข 3 กล่าว
น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครหมายเลข 11 จากพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ต้องเติมชีวาให้กับชีวิต เติมชีวิตชีวาให้กับผู้พิการ ในส่วนนโยบายที่ตนจะทำภายใน 4 ปี คือ การสร้างคน สร้างงาน และสร้างเมืองให้เป็นมิตรกับคนทุกคน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคนพิการต้องได้รับการดูแลตั้งแต่เกิด การเรียนการสอนต้องสามารถเรียนกับผู้อื่นได้ ขณะเดียวกันโรงเรียนต้องจัดวิชาชีพที่สามารถนำไปประกอบอาชีพในอนาคตได้ และมีความภาคภูมิใจในตัวเอง
“ต้องสร้างชีวิตชีวาให้กับผู้พิการตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงการประกอบอาชีพ การสร้างงานจะต้องมีโควตาที่คุณจะต้องรับคนพิการเข้าทำงาน รวมถึงการเดินทาง เช่น รถเมล์ แท็กซี่ รถบริการ ในทุกๆ 3-5 คัน ต้องสามารถให้บริการคนพิการได้ หากมีราคาสูงกทม.มีหน้าที่จัดการแก้ปัญหาเรื่องราคา ในการดูแลคน การศึกษา ต้องสามารถให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ การสร้างเมืองต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้คนทุกคน ต้องเข้าถึงได้ทุกเรื่อง สิ่งที่ผมพูดในทีมงานของผู้ว่าฯจะต้องมีตัวแทนคนพิการที่จะคิดให้ เรา เราจะไม่คิดแทน ให้โอกาสให้เขาได้มาร่วมงานกับเราและทำให้ดีที่สุด” ผู้สมัครหมายเลข 11 กล่าวในที่สุด
การประชันวิสัยทัศน์ ตามหา “ผู้ว่าฯ ฟอร์ ออล” ครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ มีผู้ร่วมตั้งคำถามในการตามหา “ผู้ว่าฯ ฟอร์ ออล” เป็นตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆในสังคม เช่น “คริสโตเฟอร์ เบญจกุล” ดาราพระเอกหนุ่มน้ำใจงาม, “น้องธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์” มนุษย์ล้อสาวน้อยคิดบวก , “ซาบะ-มานิตย์ อินทร์พิมพ์” นักรณรงค์ต่อสู้เรื่องที่จอดรถคนพิการ, คุณเพชรน้ำหนึ่ง ศรีวรรธนะ อดีตผู้จัดการประกวดมิสวีลแชร์ไทยแลนด์, ดร.วิว-อันธิกา สวัสดิ์ศรี อดีตประธานสภาคณบดีสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และคุณกรรณิกา ธรรมเกษร อดีตผู้ประกาศข่าวอาวุโส ในฐานะตัวแทนวัยเก๋า เป็นต้น
Comentários