top of page
รูปภาพนักเขียนLittle C

ทัวร์อารยสถาปัตย์ จ.เพชรบุรี ตอนที่ 2

อัปเดตเมื่อ 29 ธ.ค. 2564



“กิจกรรมทดสอบเส้นทางท่องเที่ยว (FAM Trip) ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลและการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) จังหวัดเพชรบุรี” โดย สำนักงานพื้นที่พิเศษ 8 (อพท. 8)



เมื่อวันที่ 7–8 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษ 8 (อพท.8) ได้ร่วมกับมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล จัดกิจกรรมทดสอบเส้นทางท่องเที่ยว (FAM Trip) ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลและการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) จังหวัดเพชรบุรี โดยได้นำคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ และเด็ก จำนวน 20 คน ร่วมสำรวจ “อารยสถาปัตย์” ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ ของจังหวัดเพชรบุรี การเดินทางในครั้งนี้ใช้รถบัสอารยสถาปัตย์จากดำเนินแคร์รีสอร์ท ราชบุรี ที่ได้ติดตั้งไฮดรอลิคลิฟท์ไว้ด้านหลังเพื่อให้สามารถนำผู้ใช้วีลแชร์ขึ้นลงรถบัสอย่างสะดวกปลอดภัย นอกจากนี้ยังมี รถตุ๊กตุ๊กที่มีทางลาดขึ้นจากด้านข้าง ที่ทำให้ผู้ใช้วีลแชร์สามารถขึ้นได้อย่างสะดวก จาก TukTuk Plus ถือเป็นนวัตกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี



สำหรับแหล่งท่องเที่ยวแรกที่พาคณะนักท่องเที่ยวไป นั่นก็คือ "วนอุทยานเขานางพันธุรัต" สาเหตุที่เรียกว่า วนอุทยานเขานางพันธุรัตก็เป็นเพราะว่าในพื้นที่วนอุทยานมีลักษณะของภูเขาทอดยาวที่มองแล้วเหมือนหญิงอวบกำลังนอนอยู่คล้ายนางยักษ์ในวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ซึ่งที่นี่ได้พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกหรืออารยสถาปัตย์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มพิเศษ ได้แก่ ทางลาดในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ทางลาดในพื้นที่อาคารนิทรรศการ ร้านกาแฟ ห้องน้ำอารยสถาปัตย์ ลานจอดรถสำหรับวีลแชร์ และถนนหรือทางเดินที่มนุษย์ล้อสามารถเข้าถึงจุดถ่ายรูปถนนสีรุ้งซึ่งเป็นจุดแลนด์มาร์คใหม่ได้อีกด้วย ทั้งนี้ คุณเนตรนภา งามเนตร หัวหน้าวนอุทยานเขานางพันธุรัต กล่าวว่า "ทางวนอุทยานเขานางพันธุรัตมองเห็นความสำคัญของอารยสถาปัตย์ และมีแผนที่จะปรับปรุงและพัฒนาอารยสถาปัตย์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างทางเชื่อมโยงให้นักท่องเที่ยวกลุ่มพิเศษสามารถเข้าสู่พื้นที่อื่นๆ ภายในอุทยานได้อย่างสะดวก และปลอดภัย มากยิ่งขึ้น" ได้ฟังอย่างนี้แล้ว พี่ๆน้องๆผู้พิการคงรู้สึกชื่นใจไม่น้อย


หลังจากนั้นคณะทัวร์ได้ไปชมศิลปะงานปูนปั้น พร้อมสำรวจอารยสถาปัตย์ และสักการะพระธาตุฉิมพลีพระเศรษฐีนวโกฏิ ณ วัดข่อย ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นวัดที่มีการนำงานศิลปะชั้นสูงของช่างเมืองเพชร หรือเรียกว่า ช่างสิบหมู่ มาเป็นส่วนหนึ่งของอาคารเพื่อเทิดทูนบูชาพระพุทธศาสนาให้เกิดความสวยงามตามความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน จนเรียกได้ว่า เป็น พุทธสถานศิลป์หนึ่งเดียวในโลก การสำรวจครั้งนี้นำโดย คุณวัชรีชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพท. ร่วมกับคุณกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล จากการสำรวจ พบว่าวัดแห่งนี้มีการออกแบบอารยสถาปัตย์ที่รองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มวัยค่อนข้างน้อย ยังมีหลายจุดที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ทางคณะทัวร์อารยสถาปัตย์จึงได้ให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงศาสนสถานแห่งนี้ให้สามารถเข้าถึงได้สำหรับคนทั้งมวลมากยิ่งขึ้น เช่น การสร้างทางลาดขึ้นวิหารโดยแนะนำให้ออกแบบไว้ข้างวิหารเป็นทางยาวให้มีความลาดเอียงที่ 1 : 12 เมตร และแนะนำให้ทำลวดลายให้กลมกลืนกับศิลปะของตัววิหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้มอบคู่มืออารยสถาปัตย์เพื่อเป็นแบบในการสร้างและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆภายในวัดให้ได้มาตรฐาน เช่น ห้องน้ำอารยสถาปัตย์ ที่จอดรถอารยสถาปัตย์ ทางลาดเชื่อมโยงจุดต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ พระครูใบฎีกาทศพล กมโล พระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่ด้านงานเผยแผ่ของวัดข่อย ในฐานะผู้แทนเจ้าอาวาส กล่าวว่า “มีความยินดีและมีความตั้งใจที่จะจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนทั้งมวลดังที่ได้รับคำแนะนำ เพื่อให้ผู้พิการและผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม”



ต่อจากนั้นเราก็ได้แวะซื้อของฝาก พร้อมสำรวจอารยสถาปัตย์ ณ บ้านขนมนันทวัน ตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี บ้านขนมนันทวันเป็นร้านจำหน่ายของฝากของที่ระลึก ชื่อดังประจำจังหวัดเพชรบุรี ที่ไม่ได้มีดีแค่ขนมอร่อย หรือสวยงามเท่านั้น แต่ที่บ้านขนมนันทวันแห่งนี้ ยังเพียบพร้อมไปด้วยอารยสถาปัตย์สำหรับคนทั้งมวล อาทิ ลานจอดรถสำหรับผู้พิการที่ตีเส้นอย่างชัดเจน ทางลาดที่ไม่ลื่นไม่ชัน ห้องน้ำอารยสถาปัตย์เพื่อรองรับคนพิการและผู้สูงอายุ จุดเชื่อมต่อที่ไร้รอยต่อ เชื่อมโยงทั่วทุกจุด รวมถึงมีบริการรถเข็นให้ยืม เพื่อให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยสามารถใช้พื้นที่ที่ร้านได้อย่างสะดวกสบาย และปลอดภัยมากที่สุด คุณสุพจน์ เพชราภิรัชต์ เจ้าของบ้านขนมนันทวัน ได้จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ไว้ตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้างร้าน เนื่องจากอยากให้ครอบครัวสามารถพาผู้สูงอายุมาได้อย่างสะดวก ถือว่าเป็นร้านที่มีการมองการณ์ไกลและใส่ใจลูกค้าทุกกลุ่มวัยจริงๆ




จบทริปครั้งนี้ด้วยการไปสักการะพระพุทธไสยาสน์และรอยพระพุทธบาทจำลอง และสำรวจอารยสถาปัตย์ ณ วัดถ้ำเขาย้อย ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี วัดแห่งนี้เป็นวัดที่มีการจัดทำอารยสถาปัตย์ไว้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นลานจอดรถอารยสถาปัตย์ที่ปรากฏเด่นอยู่บริเวณด้านหน้าสุดของบริเวณลานจอดรถ มีสัญลักษณ์ชัดเจน และสังเกตได้โดยง่าย นอกจากนี้ ถัดจากลานจอดรถจะได้พบกับ Platform Lift หรือ ลิฟต์เกาะราวบันได สำหรับอำนวยความสะดวกในการนำผู้ใช้วีลแชร์ไปนมัสการพระนอนองค์ใหญ่ในวัดถ้ำเขาย้อย แทนการใช้บันไดปกติ ซึ่งสะดวกและปลอดภัย ถัดจากลิฟต์เกาะราวบันได จะเห็นทางลาดอลังการที่มีราวจับแข็งแรงเพื่อให้ผู้ใช้วีลแชร์สามารถเข็นไปบนทางลาดด้วยตนเองได้ ถัดมาจะพบกับห้องน้ำอารยสถาปัตย์เพื่อรองรับคนพิการและผู้สูงอายุ นอกจากนี้ เจ้าอาวาสยังได้ทำทางลาดน็อกดาวน์เพื่อนำผู้ใช้วีลแชร์ขึ้นไปชมความงามของ "โบสถ์ไม้สักทอง" ซึ่งสร้างจากไม้สักทองทั้งหลัง งดงามด้วยศิลปะแบบไทย โดยช่างเมืองเพชร โดยอีกหนึ่งผลงานไฮไลท์ คืองานศิลปะปูนปั้นที่อยู่บริเวณฐานอุโบสถ เป็นประติมากรรมปูนปั้นนูนต่ำโดยรอบจำนวนรวม 35 ภาพ โดยฝั่งทิศเหนือเป็นรูปการละเล่นของไทยสมัยโบราณ อาทิ หัวล้านชนกัน รีรีข้าวสาร ชักกะเย่อ จำนวน 18 รูป ส่วนทิศใต้เป็นภาพประเพณีของไทย อาทิ สงกรานต์ การก่อเจดีย์ทราย บวชนาค จำนวน 17 รูป ซึ่งสร้างไว้โดยคำนึงถึงผู้พิการทางสายตา เมื่อผู้พิการทางสายตาได้สัมผัสลูบคลำ ก็จะเกิดการเรียนรู้ผ่านทางอักษรเบรลล์และปูนปั้นที่ผ่านการนำเสนอจากช่างเมืองเพชร เป็นการเปิดโอกาสการเรียนรู้ให้กับทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม หลังจากนั้น พระมหานิธิกาญจน์ (นิธิวํโส) เจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาย้อย ได้นำชมวังมัจฉานาคารักนิรันดร์ ซึ่งเป็นจุดที่มนุษย์ล้อสามารถเข้าถึงเพื่อให้อาหารปลา เพราะได้ทำทางลาดรองรับแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างซ่อมบำรุงทางลาด วัดถ้ำเขาย้อย จึงถือเป็นวัดต้นแบบอารยสถาปัตย์ของเมืองเพชรบุรี ที่ทุกๆวัดสามารถศึกษาไว้เป็นตัวอย่างเพื่อพัฒนาปรับปรุงอารยสถาปัตย์รองรับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลต่อไป


กิจกรรมทดสอบเส้นทางอารยสถาปัตย์ที่ อพท. จัดขึ้นครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ และเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านอารยสถาปัตย์ หรือการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก และคนที่ใช้รถเข็น อีกทั้งสร้างความตื่นตัวให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริหารสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆให้มีความพร้อมรองรับธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลของจังหวัดเพชรบุรี อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมชื่อเสียงให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นผู้นำด้านแหล่งท่องเที่ยวอารยสถาปัตย์ในระดับประเทศและสู่ระดับสากล สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองเพื่อส่งเสริมการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (City of Gastronomy) หรือ UNESCO Creative Cities Network – UCCN อีกด้วย

ดู 74 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page