การจัดเวทีประชันวิสัยทัศน์ ตามหา “ผู้ว่าฯ ฟอร์ ออล” โดย เครือข่ายฑูตอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และพันธมิตร ณ ลานริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม ย่านคลองสาน เมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างคึกคักมีสีสัน และมีเนื้อหาสาระที่สำคัญที่จะทำให้พี่น้องชาว กทม.ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนกว่า 4.3 ล้านคน ได้ตัดสินใจว่า ท่านควรจะเลือกใคร มาทำหน้าที่พ่อเมืองกรุงเทพมานคร คนต่อไป ซึ่งจะมีการเลือกตั้งกันในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม นี้ ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น.
เวทีประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 ของเมืองไทย เปิดฉากขึ้นตั้งแต่เวลา 16.30 น. ท่ามกลางสายลมและฝนพรำ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา-ไอคอนสยาม บรรดาผู้สมัครที่เดินทางมาร่วมนำเสนอนโยบายอารยสถาปัตย์ ขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม ขับเคลื่อนกรุงเทพฯสู่มหานครเพื่อคนทั้งมวลที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีจำนวน 6 คน
เริ่มตั้งแต่ “เต็ง 1” ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 ในนามอิสระ และผู้สมัครดาวเด่น หมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ในนามพรรคก้าวไกล, ผู้สมัครหญิงหมายเลข 2 พันโทหญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล ในนามอิสระ, ผู้สมัครหมายเลข 3 นายสกลธี ภัททิยกุล ในนามอิสระ, ผู้สมัครหมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย, ผู้สมัครหมายเลข 24 นายโฆสิต สุวินิจจิต ในนามอิสระ ส่วนผู้สมัครหมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ไม่ได้มาร่วมเวทีด้วย แต่ส่งผู้แทนมาร่วมรับฟัง และร่วมแสดงความคิดเห็น
ประเด็นแรกที่ถูกหยิบยกมานำเสนอในช่วงคำถามถึง “ผู้ว่าฯ ฟอร์ ออล” โดยตัวแทนเครือข่ายผู้สูงอายุและผู้พิการ และชมรมนักธุรกิจมนุษย์ล้อ คือ เรื่อง ฟุตบาททางเท้า และระบบขนส่งมวลชน ที่ยังไม่สามารถรองรับการใช้งานของผู้สูงอายุ ผู้พิการ และมนุษย์ล้อ ได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม และประเด็นเรื่องการใช้ชีวิตอิสระ ของคนพิการ ( Independent living) โดยการทำอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) ที่ได้คุณภาพมาตรฐานอย่างทั่วถึงเพียงพอที่จะทำให้ผู้พิการประเภทต่างๆ โดยเฉพาะมนุษย์ล้อสามารถใช้ชีวิต และเดินทางได้โดยอิสระ ปราศจากอุปสรรค ไม่ต้องเป็นภาระของคนรอบข้างอีกต่อไป
ดร.ชัชชาติ ผู้สมัครหมายเลข 8 กล่าวว่า ปัญหาเรื่องอารยสถาปัตย์ใน กทม. คือ คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ เมื่อทำมาแล้ว จึงใช้งานไม่ได้ และการไม่เข้มงวดจริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น หากตนได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จะต้องมีตัวแทนผู้พิการที่เข้าใจปัญหา เข้ามาร่วมงานในคณะทำงานของผู้ว่าฯด้วยอย่างแน่นอน
ส่วนปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขมี 4 ด้าน คือ (1) ด้านการเดินทาง ที่ต้องมีพาหนะที่ผู้พิการใช้งานได้สะดวก เช่น รถเมล์ชานต่ำ รถแท็กซี่วีลแชร์ที่ผู้พิการเรียกใช้งานได้สะดวก
(2) ด้านการเข้าถึงบริการสาธารณะ เช่น กทม. ต้องให้บริการล่ามภาษามือกับผู้ต้องการพิเศษ
(3) ด้านการเรียน การฝึกอาชีพ ต้องเน้นส่งเสริมอาชีพให้คนพิการทำงานตามความสนใจอย่างมีศักดิ์ศรี และโรงเรียนสังกัด กทม.จะต้องมีอารยสถาปัตย์ให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงได้
(4) ด้านการจ้างงาน โดย กทม. ต้องจ้างงานผู้พิการมากขึ้น ตามกฎหมาย คือ การจ้างงาน 100 คน จะต้องจ้างงานผู้พิการอย่างน้อย 1 คน
ดร.วิโรจน์ ผู้สมัครหมายเลข 1 กล่าวว่า เรื่องการออกแบบเมืองเพื่อคนทุกคน อารยสถาปัตย์ ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะคนพิการ แต่มีประโยชน์ต่อคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ดังนั้น อารยสถาปัตย์ คือ การออกแบบเพื่อคนทุกคน ปัญหาที่ผ่านมา คือ เราไม่เคยใส่ใจในเรื่องของงบการออกแบบ ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญมาก เราต้องแก้ไข พรบ.จัดซื้อจัดจ้าง ที่ไม่ยอมให้ตั้งงบค่าออกแบบ แต่เราควรมีงบออกแบบที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคนทั้งมวลโดยแท้จริง รวมถึงการตรวจรับงานจะต้องมีประสิทธิภาพ ฟุตบาททางเท้าจะได้เรียบร้อยสวยงาม เหมือนกันทั้ง 50 เขต
“สิ่งที่ผมจะทำทันที หากได้เป็นผู้ว่า กทม. คือ การเปิดให้บริการลิฟต์ให้ครบทุกสถานีรถไฟฟ้า เพื่อผู้สูงอายุ และผู้พิการจะได้ใช้งานได้ สะดวก ปลอดภัย และเรื่องสกายวอล์ค ที่ไม่ได้คิดสำหรับคนที่เดินไม่ได้ หรือคนที่นั่งรถเข็น เราต้องทำให้ทุกคนสามารถใช้บริการได้ รวมถึงขนส่งมวลชน รถเมล์ต้องเป็นรถเมล์ชานค่ำ ขึ้นลงสะดวกปลอดภัย ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ ให้ทุกคนสามารถใช้ได้” ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล กล่าว
น.ต.ศิธา ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย หมายเลข 11 กล่าวว่า ตนไม่เคยเชื่อมั่นกับคำว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะการที่เราพูดว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นั่นหมายความว่าเราได้ทิ้งเขาไปแล้ว ถ้าตนได้เป็นผู้ว่าฯกทม.จะเปลี่ยนวิธีคิดและการทำงานของข้าราชการทางด้านคนพิการ ให้นำคนพิการไว้ข้างหน้าก่อนอันดับแรก ต้องให้เกียรติคนพิการเพื่อให้ได้เข้ารับบริการก่อน ต้องเปลี่ยนวิธีคิดให้ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต ว่า ถ้าคุณจะตั้งเรื่องของบประมาณ จะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ บรรทัดแรกของคุณต้องชี้ให้เห็นว่าคุณได้ให้เกียรติคนพิการอย่างไร ได้ออกแบบอารยสถาปัตย์ให้ผู้พิการ และผู้สูงอายุ หรือผู้ที่บกพร่องทางร่างกายอย่างไร
“กลุ่มคนพิการมักถูกทิ้งไว้ข้างหลังมาแต่ไหนแต่ไร ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯกทม.โครงการใหม่ๆเราจะต้องให้เขาอยู่ด้านหน้ามาก่อนเสมอ ไม่ให้เขาถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกต่อไป ให้เขาได้มีโอกาสเหมือนกับประชาชนคนทั่วไป ให้เกียรติแก่คนพิการ ผู้สูงอายุ ในทุกสถานที่ และการเดินทางเราต้องให้เกียรติเขาก่อน เรามองสกายวอล์ค ว่าสร้างออกแบบสวยดี แต่คนพิการเขาไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้ทุกคนไม่ทัดเทียมกัน และไม่สามารถไปได้ เราต้องทำให้เขาได้เข้าถึงการบริการทุกอย่างให้ได้ก่อน” น.ต.ศิธา กล่าว
นายสกลธี ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 3 กล่าวว่า สิ่งที่จะทำทันทีใน 3 เดือนแรก หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะให้ความสำคัญกับทางต่างระดับใน กทม.ให้ลดลงให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบัน ผู้พิการใช้ทางเท้าได้อย่างลำบาก เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯกทม.ที่ต้องกำหนดว่าแบบของทางเท้าต้องเป็นอย่างไร ต้องมีระยะต่างระดับที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับคนทุกคน โดยคำนึงถึงคนพิการ และผู้สูงอายุเป็นหลัก เพราะถ้าคนกลุ่มนี้ใช้งานได้สะดวก ปลอดภัย ไม่มีอุปสรรค คนปกติทั่วไปก็สามารถใช้ได้สะดวก ปลอดภัย เท่าเทียมกัน
“ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือในการจัดซื้อจัดจ้าง ยังไม่สามารถรวมกับค่าออกแบบได้ อันนี้สำคัญมากๆ ในส่วนที่ 2 ในกรุงเทพฯอยู่ที่การบริการขนส่งสาธารณะเป็นหลัก ในเรื่องทางต่างระดับต้องทำให้ช่องว่างน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทางรถ ทางเรือ รถไฟ ต้องสามารถให้ทุกคนใช้ได้อย่างปลอดภัยที่สุด ผมตั้งใจที่จะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่จะทำทุกอย่างให้คนทุกคน ถ้าเราสามารถทำเรื่องอายสถาปัตย์ให้คนทุกคนได้ดี ผมเชื่อว่าคนทุกคนในกรุงเทพมหานครจะอยู่แบบใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมกันแน่นอน” นายสกลธี กล่าว
ดร.โฆสิต ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 24 กล่าวว่า เรื่องอารยสถาปัตย์ หรือการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนทั้งมวล เป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี แต่อยู่ที่ผู้ว่าฯจะทำจริงหรือไม่ ถ้าไม่โกง มีเงินเหลือเยอะแน่นอน สำคัญที่สุดคือผู้ว่าฯต้องชัดเจน ต้องประกาศนโยบายให้ชัด 3เดือนแรก ทำทันที กรุงเทพฯต้องเป็นเมืองที่ดีที่สุดของทุกคน เป็นเมืองที่ผู้พิการไปได้ทุกที่ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก ให้ทุกคนและคนพิการในโลกนี้มาเที่ยวได้สะดวกสบาย และปลอดภัย
“หากผมเป็นผู้ว่าฯกทม. ผมขอประกาศเลยว่า ผมจะตั้งคุณกฤษนะ และคูณกรรณิกามาเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม.ด้านคนพิการ นี่คือสุดยอดคนของประเทศนี้แล้ว ที่ผลักดันจนเกิดกฎหมายขึ้นมา มีใครทำแบบนี้ไหม จะรณรงค์คนเก่งคนมีฝีมือมาร่วมกันทำให้เมืองนี้เป็นเมืองที่ดีที่สุด ให้คนพิการทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน จะสร้างเมืองให้ทุกคน 24 ชั่วโมง” ผู้สมัครหมายเลข 24 กล่าว
พ.ท.หญิง ฐิฏา ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 2 กล่าวว่า กทม.ในปัจจุบัน ไม่เป็นมิตรกับคนที่นั่งรถเข็น เพราะตนประสบอุบัติเหตุในระหว่างการลงพื้นที่หาเสียง จนขาหัก ต้องนั่งรถเข็น ทำให้ไปไหนมาไหนลำบากมาก ไม่สะดวกเลย จึงเห็นความสำคัญของอารยสถาปัตย์ เราต้องออกกฏหมายให้ตึกอาคารเก่า และสถานที่ต่างๆ จะต้องปรับปรุงให้มีอารยสถาปัตย์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรกับคนพิการ และคนทั้งมวล ถ้าตนได้เป็นผู้ว่าฯกทม.ตนจะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ พร้อมๆกับเรื่องการศึกษา
การประชันวิสัยทัศน์ ตามหา “ผู้ว่าฯ ฟอร์ ออล” ครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ ดำเนินรายการ โดยพิธีกรชื่อดัง “กฤษนะ ละไล” ประธานเครือข่ายอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล โดยมีผู้ร่วมตั้งคำถามในการตามหา “ผู้ว่าฯ ฟอร์ ออล” เช่น “คริสโตเฟอร์ เบญจกุล” ดาราพระเอกหนุ่มน้ำใจงาม, “น้องธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์” มนุษย์ล้อสาวน้อยคิดบวก , “ซาบะ-มานิตย์ อินทร์พิมพ์” นักรณรงค์ต่อสู้เรื่องที่จอดรถคนพิการ, คุณเพชรน้ำหนึ่ง ศรีวรรธนะ อดีตผู้จัดการประกวดมิสวีลแชร์ไทยแลนด์, ดร.วิว-อันธิกา สวัสดิ์ศรี อดีตประธานสภาคณบดีสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และคุณกรรณิกา ธรรมเกษร อดีตผู้ประกาศข่าวอาวุโส ในฐานะตัวแทนวัยเก๋า เป็นต้น
ร่วมกันตามหา "ผู้ว่าฯ ฟอร์ ออล"
พัฒนากรุงเทพฯเพื่อคนทุกคน
เมืองหลวงที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ความคิดเห็น